เข็มดอย ๒

Pavetta fruticosa Craib

ชื่ออื่น ๆ
เข็มขาว (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไม้พุ่ม กิ่งอ่อนมักเป็นเหลี่ยม มีขนสั้น ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปรี แผ่นใบมีปมแบคทีเรียเล็ก ๆ ประปราย ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลิ่นหอม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ เมล็ดรูปครึ่งวงกลม มี ๒ เมล็ด

เข็มดอยชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูง ๐.๕-๑.๕ ม. กิ่งออกตรงข้าม กิ่งอ่อนมักเป็นเหลี่ยม มีขนสั้น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปรี กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๖-๑๔ ซม. ปลายแหลมโคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนสั้นนุ่มทั้ง ๒ ด้าน แผ่นใบมีปมแบคทีเรียเล็ก ๆ ประปรายเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพืชในสกุลนี้ทุกชนิดเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมฐานกว้าง ปลายเป็นติ่งแหลม ยาว ๕-๘ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่งรูปกรวย ยาว ๔-๖ ซม. มีใบประดับ ๑ คู่ รองรับช่อดอก ดอกสีขาว กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๑-๓ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก มีขน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดเรียว ยาว ๑.๒-๒.๕ ซม. เมื่อบานปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนานยาว ๐.๕-๑ ซม. และแฉกจะพับกลับมาทางด้านนอก ด้านในเกลี้ยง ส่วนด้านนอกมีขน เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดที่คอหลอดกลีบดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูโผล่พ้นหลอดกลีบดอกเล็กน้อย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้นเรียว ยาว ๒.๕-๔ ซม. โผล่พ้นหลอดกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ พู

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ผลแก่สีเขียวเข้มถึงดำมีกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล เมล็ดรูปครึ่งวงกลม มี ๒ เมล็ด

 เข็มดอยชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบขึ้นตามชายป่าดิบแล้งหรือป่าเต็งรัง ที่สูงจากระดับทะเล ๔๐๐-๑,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มดอย ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pavetta fruticosa Craib
ชื่อสกุล
Pavetta
คำระบุชนิด
fruticosa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
เข็มขาว (ตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ